เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปเรื่องหลักการบริหารคน จำเป็นต้องใช้คนให้ถูกกับงาน ฝ่ายขายก็เช่นเดียวกัน
เมื่อเจาะลึกลงไปอีกนิดเพื่อเลือกประเภทของทีมขาย คงต้องวิเคราะห์ก่อนว่า สินค้าของเรา หรือประเภทธุรกิจของเราขายสินค้าประเภทไหน
จะแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท
1️⃣สินค้าประเภท High Involvement โดยธรรมชาติจะเป็นสินค้าประเภทที่ลูกค้า หรือผู้บริโภค นานๆครั้งจะซื้อซักที มีรอบการสั่งซื้อที่ค่อนข้างนาน ซื้อทีหนึ่งอาจจะใช้เวลาหลายปี ถึงจะวนกลับมาซื้อใหม่
อีกองค์ประกอบหนึ่งก็คือ กว่าลูกค้าจะตัดสินใจซื้อได้ ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล เพื่อให้มั่นใจในตัวสินค้าจริงๆซะก่อน และโดยส่วนใหญ่ราคาจะค่อนข้างสูง เช่น
▪️เครื่องจักร
▪️วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
▪️รถยนต์
▪️อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน, คอนโด
▪️วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน, สุขภัณฑ์
▪️Software คอมพิวเตอร์ เช่น ระบบ ERP
▪️🗡ยารักษาโรคเฉพาะทาง
2️⃣สินค้า Low Involvement สินค้าประเภทนี้ตรงข้ามกัน เป็นสินค้าประเภทลูกค้า หรือผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายกว่า อาจมีรอบการซื้อที่สม่ำเสมอ ใช้เวลาในการตัดสินใจไม่น้อยกว่าประเภทแรกมาก
ถ้าตัดสินใจซื้อผิดก็ไม่คิดจนตัวตาย อย่างเก่งครั้งหน้าก็เปลี่ยนยี่ห้อ สินค้าประเภทนี้ ก็อย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภค, อาหาร, ขนม, ไอศครีม, เสื้อผ้า ฯลฯ และลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภท End User เป็นหลัก
คราวนี้มาดูฝั่งของเซลส์บ้าง จากประสบการณ์เวลาผมสัมภาษณ์งานจะพบบุคลิกภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1️⃣เซลส์ประเภท Hunter : 🏹🏹
หรือเซลส์ประเภทที่มีจิตวิญญาณการเป็น “นักล่า” ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะมีบุคลิก อย่างเช่น
🔴คล่องแคล่วว่องไวดูกระฉับกระเฉง
🔴แต่งตัวเก่ง
🔴พูดจาฉาดฉาน
🔴มีความหรูหราอยู่ใน Life Style
🔴อาจจะพบว่ามีการเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย
2️⃣เซลส์ประเภท Farmer: 🌱🌱
หรือเซลส์ที่จิตวิญญาณแบบ “เกษตรกร” ซึ่งคาแรคเตอร์ที่พบบ่อย จะประมาณนี้
🟢ค่อยๆพูดค่อยๆจา หรือพูดจาหนักแน่น
🟢ใจเย็น
🟢งานหนักไม่เกี่ยง, ลูกอึดมาเกินร้อย
🟢ไม่ค่อยมีความหรูหราอยู่ในตัวมากนัก
🟢ดูเป็นคนตรงไปตรงมาซักหน่อย
🔴เวลาผมช่วยลูกค้าในการสัมภาษณ์เซลส์ใหม่ ถ้าเป็นสินค้า High Involvement ผมชอบที่จะเลือกเซลส์ที่มีบุคลิกออกไปทาง Hunter มากกว่า Farmer
เนื่องจากสินค้าประเภทนี้มีรอบการซื้อค่อนข้างนาน ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัย “ลูกค้าใหม่” เป็นหลัก เซลส์จำเป็นที่ต้องเป็นนักล่าเพื่อหา “Lead” หรือ “prospect customer list” อยู่ในมือเยอะ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นยอดขาย
🟢ในทางกลับกันถ้าเป็นสินค้าประเภท Low Involvement ผมมักจะมองหาคนที่มีลักษณะ Farmer มากกว่า เนื่องจากสินค้าประเภทนี้จะไม่ได้มีความหวือหวาอะไรมากนัก เน้นการสร้างความสัมพันธ์และการบริการที่ดีระหว่างบริษัทฯกับร้านค้าเป็นหลัก
เพราะชีวิตนี้ก็จะเจอลูกค้าบ่อยมาก ซึ่งจะเป็นร้านค้า หรือเป็นคนที่ซื้อเอาไปขายต่อเป็นหลัก รอบการเยี่ยมอาจจะเป็นเดือนละครั้ง หรือไม่ก็เจอกันทุกๆ 3-4 วันก็มี เช่น เซลส์วิ่งขายไส้กรอก, ลูกชิ้นปลา ให้ร้านค้าในตลาดสด
✅ถามว่าถ้าเป็นสินค้า Low Involvement เราไม่จำเป็นต้องเปิดลูกค้าใหม่เลยเหรอ อันนี้ก็ไม่เชิงนัก
แน่นอนว่าถ้าเขตการขายนั้นเซลส์ยังมีเวลาเหลือพอที่หาร้านค้าใหม่ได้ หรือเป็นการเพิ่มเขตการขายใหม่, เป็นสินค้าใหม่ อันนี้ก็จำเป็นก็ต้องสวมวิญญาณ “นักล่า” แน่ๆ
แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งแล้ว เมื่อเวลาการทำงานไม่พอ ดังนั้นการพูมพักลูกค้าเก่าให้เขามียอดซื้อเพิ่มขึ้นคงเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
✅อย่างไรก็ตามก็สินค้า High Involvement ตัวเดียวกันนี่แหละ แต่เมื่อไปอยู่ในช่องการขายที่แตกต่างกัน มันก็จะแปรสภาพเป็นสินค้า Low Involvement ไปทันที เช่น
วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์, สีทาบ้าน ถ้าเป็นช่องทางขายไปที่ End User เจาะเข้าไปที่โครงการใหญ่ๆ แบบนีก็ต้องใช้เซลส์ประเภท Hunter แต่พอไปอยู่ในช่องทางขายส่งใหญ่ๆ แบบนี้ก็ต้องใช้ เซลส์แบบ Farmer
🟡แต่มีสินค้า + ช่องทางขายประเภทหนึ่งครับ ที่เซลส์ต้องมีจิตวิญญาณทั้ง Hunter และ Farmer รวมร่างในคนๆเดียวกัน และมีอัตราส่วนที่พอๆกันคือ 50:50 คือเป็นเซลส์ประเภท Hybrid เช่น
🟡วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ขายให้กับโรงงานที่ใช้แป้งที่เป็นส่วนผสมอาหาร เซลส์ต้องหาลูกค้ารายใหม่อยู่เรื่อยๆ แถมยังต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าเอาไว้ให้ได้อีกด้วย เผลอนิดเดียว อาจโดนคู่แข่งฉกเอาไปกิน
🟡ดีเทลยา : ก็เน้นเจาะหาคุณหมอท่านใหม่ๆอยู่ตลอด เพื่อให้คุณหมอเชื่อใจเอายาของเราไปใช้ แถมยังต้องหมั่นเข้าไปเยี่ยมบ่อยๆด้วยซ้ำ
🟡ช่องทางขาย HORECA (Hotel, Restaurant,Catering): เช่น ขายเส้นสปาเกตตี้ให้ Food Chain เจ้าใหญ่ๆ งานนี้ต้องผูกใจเชฟให้อยู่หมัด แถมต้องหาลูกค้ารายใหม่ตลอด เพราะลูกค้าเดิมอาจจะยกเลิกเมนูที่ใช้เส้นสปาเก็ตตี้วันไหนก็ได้
อย่างไรก็ตามเซลส์แต่ละคนคงไม่ได้มีลักษณะโดดๆแบบ 100%ไปทางใดทางหนึ่งหรอกนะครับ น่าจะปนๆกันไปทั้งสองแบบนั่นแหละ แต่จะอย่างไหนจะมากกว่ากัน...ก็ว่ากันไป
แต่ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่เซลส์ทั้งสองประเภทต้องมีเป็นพื้นฐานก็คือ ต้องมีความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นมิตร จริงใจกับลูกค้า
🆗สรุปง่ายๆคือต้องเป็น “คนดี”...
ธุรกิจของท่านจึงจะมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนครับ
-บุ้ง ดีดติ่งหู-
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า